วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

SCM

การบริหารห่วงโซ่อุปทาน
(Supply Chain Management-SCM)
   ภายใต้สภาพแวดล้อมของการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงทุกวันนี้  การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด  และ การส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าต้องสามารถทำได้ในเวลาที่รวดเร็ว  ส่วนวงการอายุของผลิตภัณฑ์นับวันจะสั้นลงเรื่อยๆ  และ ลูกค้าก็มีความคาดหวังสูงขึ้น  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทต่างๆ ต้องพยายามค้นหาแนวทางในการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจ และ เป็นหลักประกันในความอยู่รอดของบริษัท  ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลกได้เริ่มหันมาลงทุนและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารโซ่อุปทาน เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นแนวทางเดียวที่จะสามารถลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจในยุคปัจจุบันได้    ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีการสื่อสารและการขนส่ง (เช่น การสื่อสารแบบไร้สาย  อินเทอร์เนท  และการส่งมอบอย่างทันทีทันใด)  ได้มีส่วนในวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของโซ่อุปทาน  และเทคนิคในการบริหารโซ่อุปทาน



รูปที่ 1  โลจีสติกส์ภายในห่วงโซ่อุปทาน

ความหมายของการบริหารโซ่อุปทาน 
ก่อนที่เราจะพูดถึงรายละเอียดต่อไปเกี่ยวกับการบริหารโซ่อุปทาน ขอให้เรามาสรุปความหมายของการบริหารโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น    ซึ่งโดยความหมายของโซ่อุปทานได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลาย แต่ก็มีประเด็นสำคัญไปในทำนองเดียวกันดังนี้

การออกแบบและการบริหารกระบวนการเพิ่มมูลค่าตลอดทั้งองค์กรที่ไร้รอยตะเข็บ(ไหลลื่น)เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าขั้นสุดท้าย 
(The design and management of seamless, value-added process across organizational boundaries to meet the real needs of the end customer)

โดย  สถาบันบริหารอุปทาน (Institute for Supply Management)

การบริหารอุปทานและอุปสงค์ นับตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบและชิ้นส่วน การผลิตและการประกอบ คลังสินค้าและการติดตามสินค้าคงคลัง การป้อนใบสั่งและการบริหารใบสั่ง การกระจายสินค้าตลอดทุกๆช่องทาง และส่งมอบให้กับลูกค้า
(Managing supply and demand, sourcing raw materials and parts, manufacturing and assembly, warehousing and inventory tracking, order entry and order management, distribution across all channels, and delivery to the customer)
โดย  สภาบริหารโซ่อุปทาน (supply chain council )

นอกจากนั้นยังมีผู้ให้คำจำกัดความอื่นๆที่น่าสนใจดังนี้
               
เป็นโครงข่าย(Network) ของการเชื่อมต่อกันขององค์กรที่ไม่ขึ้นต่อกันและร่วมมือทำงานร่วมกันในการควบคุม จัดการ และปรับปรุงการไหลของวัตถุดิบ การไหลของข้อมูล และการไหลของเงินทุน จากผู้จัดส่งไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

การรวมกันของกระบวนการทางธุรกิจจากผู้บริโภคขั้นสุดท้ายกลับผ่านมายังผู้จัดส่งวัตถุดิบต้นทางเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางในการเพิ่มคุณค่าที่เป็นเลิศในตัวผลิตภัณฑ์ บริการ และ ข้อมูล  สำหรับลูกค้า ตลอดเส้นทางของโซ่อุปทาน

“SCM มีจุดมุ่งหมายพื้นฐานเพื่อควบคุมวัสดุคงคลังโดยการจัดการการไหลของวัสดุระหว่างผู้ส่งมอบและบริษัท ภายในบริษัท และ ระหว่างบริษัทและลูกค้าให้ไหลรื่นด้วยจังหวะความเร็วที่สมดุล และ ยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ได้อย่างรวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ต่ำ

“SCM เป็นการนำเอาระบบLogistic ของแต่ละบริษัทมาต่อเชื่อมกันเพื่อให้การไหลของวัตถุดิบและสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังแสดงในรูปที่ 1”

จากคำจำกัดความดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่ข้อสังเกตหลายๆ ประการ คือ ประการแรกการจัดการโซ่อุปทานจะทำการพิจารณาถึงทุกๆ องค์กร ที่มีผลกระทบต่อต้นทุน  และมีบทบาทที่สำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า  นับจากผู้ส่งมอบ (Suppliers)    โรงงานที่ทำการผลิตผ่านคลังสินค้า  และศูนย์กระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีก  และลูกค้า  และแน่นอนที่สุดการวิเคราะห์ในบางห่วงโซ่อุปทานเราจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผู้ส่งมอบของผู้ส่งมอบ  และลูกค้าของลูกค้าเนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทาน
                ประการที่สอง  วัตถุประสงค์ของการจัดการห่วงโซ่อุปทานก็คือ ทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านต้นทุนต่อระบบโดยรวม เช่น ต้นทุนของระบบโดยรวม  นับจากขนส่งและการกระจายของคงคลังที่เป็นวัตถุดิบ  และ งานระหว่างผลิตไปทำการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป  จะต้องทำให้มีต้นทุนต่ำที่สุด  ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ การให้ความสำคัญกับการจัดการโซ่อุปทานจึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ พียงแค่ให้ค่าขนส่งต่ำสุดหรือลดของคงคลังลงแต่จะต้องใช้วิถีทางเชิงระบบในการจัดการกับห่วงโซ่อุปทาน
                และท้ายที่สุด เนื่องจากการจัดการกับห่วงโซ่อุปทานเป็นการพิจารณาอยู่รอบๆ ความมีประสิทธิภาพในการบูรณาการของผู้ส่งมอบ  ผู้ผลิต คลังสินค้า  และร้านค้า  ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทในหลายๆ ระดับ  จากระดับยุทธศาสตร์ไปสู่ระดับยุทธวิธีและสู่ระดับการปฏิบัติการ

องค์ประกอบของโซ่อุปทาน

                รูปแบบหนึ่งของการไหลของผลิตภัณฑ์ภายในโซ่อุปทานเริ่มต้นจาก วัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ถูกจัดซื้อเข้ามาจากผู้ส่งมอบ  หลังจากนั้นวัตถุดิบหรือหรือชิ้นส่วนดังกล่าวก็จะถูกนำมาทำการผลิต   และจัดส่งไปยังคลังสินค้า (warehouse) เพื่อจัดเก็บไว้ชั่วคราว  หลังจากนั้นจึงทำการจัดส่งไปยังพ่อค้าส่งหรือผู้กระจายสินค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกหรือลูกค้าขั้นสุดท้ายต่อไป ถ้าเราคือองค์กรธุรกิจหนึ่งในโซ่อุปทานดังกล่าวนี้ จะเห็นว่า  การลดต้นทุนและการปรับปรุงระดับบริการ โดยการมุ่งเน้นการบริหารจัดการเฉพาะระบบภายในธุรกิจของตนเพียงอย่างเดียวจึงเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ  แต่จะต้องมีการประสานงานร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆภายในองค์กร และระหว่างองค์กรพันธมิตรภายใซ่อุปทาน นับตั้งแต่ ผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนไปจนกระทั้งถึงลูกค้าขั้นสุดท้าย เพื่อสร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ด้วย ต้นทุน ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้   ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารโซ่อุปทานที่มีประสิทธิผลและประสิทธภาพจึงจำเป็นจะต้องการร่วมมือกันของเครือข่ายพันธมิตรในทุกๆระดับของโซ่อุปทานด้วย  หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เครือข่ายโลจีสติกส์  ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบ (Suppliers)  โรงงานผลิต  คลังสินค้า  ผู้ขายส่ง หรือ ผู้กระจายสินค้า  ผู้ขนส่ง  ร้านค้าปลีก และลูกค้า  พร้อมทั้งวัตถุดิบ  งานระหว่างผลิต  และสินค้าสำเร็จรูปที่ไหลระหว่างหน่วยต่างๆ ภายในโซ่อุปทาน  ดูรูปที่ 2 

รูปที่ 2 แสดงเครื่อข่ายภายในโซ่อุปทานซึ่งประกอบด้วย ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า และ ลูกค้า

การบริหารโลจีสติกส์(Logistics Management)

สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับการบริหารโซ่อุปทานก็คือ การบริหารโลจีสติกส์ (Logistics management) เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่า การจัดการโลจีสติกส์คืออะไร  และแตกต่างจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างไร  ในการตอบคำถามดังกล่าวนี้จะขึ้นอยู่กับว่าผู้ตอบมองจากมุมมองใดระหว่างการจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจีสติกส์  แต่สำหรับในที่นี้เราจะไม่แบ่งแยกระหว่างการจัดการโลจีสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน  และแน่นอนที่สุดคำจำกัดความของเราเกี่ยวกับการจัดการโซ่อุปทาน  จึงมีความคล้ายคลึงกันกับการจัดการโลจีสติกส์ซึ่งได้ถูกนิยามโดยสภาบริหารโลจีสติกส์ไว้ดังนี้

กระบวนการในการวางแผน การดำเนินการ และ การควบคุมความมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลด้านต้นทุนในการไหลและการจัดเก็บ วัตถุดิบ งานระหว่างผลิต สินค้าสำเร็จรูป และสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง จากจุดที่เป็นแหล่งเริ่มต้นไปยังจุดที่มีการบริโภค โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
               
จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงพอสรุปได้ว่า ในโซ่อุปทานหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วยการไหลของผลิตภัณฑ์และบริการ นับจาก
·       ผู้ผลิตวัตถุดิบ
·       ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ระหว่างกลาง
·       ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
·       ผู้ค้าส่งและกระจายสินค้า และ
·       ผู้ค้าปลีก
โดยจะถูกเชื่อมต่อกันด้วยกิจกรรมการขนส่ง และการจัดเก็บและได้รับการบูรณาการโดย  สารสนเทศ     การวางแผน  และ กิจกรรมบูรณาการ
ภารกิจที่สำคัญของโลจีสติกส์ก็คือการนำ วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วน งานระหว่างผลิต และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากแหล่งที่เหมาะสม ถูกต้อง ในปริมาณณี่ถูกต้อง พร้อมด้วยสารสนเทศที่ถูกต้อง ทันสมัย ไปยังสถานที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง ภายใต้สภาพเงื่อนไขและความเร็วที่เหมาะสมถูกต้อง

ความแตกต่างระหว่าง การบริหารโซ่อุปทาน และ การบริหารโลจีสติกส์

                ปัจจุบันความหมายของการบริหารโซ่อุปทานและโลจีสติกส์มักจะมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน ขึ้นอยู่กับผู้ให้ความหมายว่ามองจากด้านใด เมื่อพูดจากมุมมองของการบริหารโลจีสติกส์ ก็จะพูดในความหมายของโลจีสติกเชิงโซ่อุปทาน และในทำนองเดียวกันเมื่อพูดจากมุมมองของการบริหารโซ่อุปทานก็จะพูดความหมายของการบริหารโซ่อุปทานครอบคลุมถึงการบริหารโลจีสติกส์ เสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตามเมื่อนำทั้งสองคำนี้มาใช้ร่วมกันจึงต้องพยายามแยกแยะให้เห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ความหมายดังนี้
                การบริหารโลจีสติกส์  เป็นการบริหารกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารจัดการเคลื่อนย้ายทางกายภาพของวัสดุนับจากวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบ ผ่านคลังวัตถุดิบ ไปเป็นงานระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป  ไปสิ้นสุดจุดหมายปลายทางที่ลูกค้าขั้นสุดท้าย  ซึ่งจะ ครอบคลุมถึงภารกิจ ด้านการ วางแผนและควบคุม และดำเนินการกิจกรรมต่างๆมากมาย  เช่น การวางแผนกำหนดตำแหน่งทำเลที่ตั้งองค์กรต่างในเครือข่ายโซ่อุปทาน   การบริหารอุปสงค์(Demand Management)  การวางแผนและควบคุมารผลิต การบริหารวัสดุคงคลัง การบริหารการจัดซื้อ  การบรรจุหีบห่อ การขนย้าย และขนส่ง การปฏิบัติการด้านคลังสินค้า(Warehouse Operations) การกระจายสินค้า การบริหารการขนส่ง การซ่อมบำรุง  การบริการหลังการขายและการคืนสินค้า เป็นต้น
ส่วนการบริหารโซ่อุปทานเป็นเรื่องของแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ในความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆภายในเครือข่ายโซ่อุปทาน เพื่อประสานให้หน่วยงานต่างๆทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรสามารถปฏิบัติงานเชื่อมกันได้เป็นหนึ่งเดียวอย่างไร้รอยตะเข็บ เพื่อให้เป็นช่องทาง หรือเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการไหลของ สารสนเทศ วัสดุ และกระแสเงินทุน
ภายใต้สภาวะการแข่งขันทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน การบริหารโลจีสติกส์และโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน และต้องพึงพาซึ่งกันเสมือนเป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้นในปัจจุบันเมื่อเราพูดถึงการบริหารโลจีสติกส์จึงต้องเป้นการบริหารโลจีสติกส์ในเชิงโซ่อุปทานซึ่งเน้นการประสานงานร่วมมือกัน

การบูรณาการในห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain Integration)

สิ่งที่ทำให้การบริหารโซ่อุปทานมีความแตกต่างจากการบริหารแบบดั่งเดิมก็คือ การมีการบูรณาการของกระบวนการหลักทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการบริหารโซ่อุปทานอยู่ที่ความสามารถในการจัดการให้กระบวนการต่างๆทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกสามารถรวมมือรวมใจกันในการวางแผนและดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวโดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์โดยรวมของทั้งโซ่อุปทานมากกว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ  ความร่วมมือกันเป็นหนึ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายๆด้าน ยกตัวอย่างเช่น  
·       การบูรณาการกระบวนการภายในทางธุรกิจให้เป็นแบบไร้รอยตะเข็บ ไร้ความสูญเสีย  และมีความยืดหยุ่น ใช้นโยบายการทำงานแบบข้ามสายงาน ลดกระบวนการและขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น
·       การบูรณาการกับกระบวนการภายนอก  นั่นคือบูรณาการกับกระบวนการของลูกค้าที่สำคัญและผู้จัดหาวัตถุดิบที่สำคัญให้เข้ากับกระบวนการภายในของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ และไร้รอยตะเข็บ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างยืดหยุ่น และ รวดเร็ว ขณะที่ต้นทุนลดต่ำลง
·        การบูรณาการทางเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ  เพื่อให้การแลกเปลี่ยนและประสานข้อมูลข่าวสารภายในองค์กรและระหว่างองค์กรเป็นไปอย่าง ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่นิยมใช้กันได้แก่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-bussiness)  การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Data Interchange-EDI) การส่งจดหมายทางอิเล็กทรอนิกส์(E-Mail) บาร์โค้ด(Bar Code) การชี้บ่งตำแหน่งด้วยคลื่นความถี่วิทยุ(Radio Frequency Identification-RFID) อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต ซอฟท์แวร์การวางแผนทรัพยากรวิสาหกิจ(Enterprise Resource Planning-ERP) เป็นต้น
·       การบูรณาการวางแผนรวมกันทั้งภายนอกและภายใน เป็นการรวมมือกันของทุกๆองค์กรในโซ่อุปทาน กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในการวางแผนเชิงบูรณาการ คือ  การวางแผน การพยากรณ์  และ การเติมเต็ม แบบร่วมประสานกัน(Corporative Planning Forecasting and Replenishment-CPFR)

ความท้าทายในการบริหารโซ่อุปทาน

การพัฒนาและบริหารโซ่อุปทานเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหาร ถึงแม้ว่าในทางธุรกิจ
การบริหารในเชิงโซ่อุปทานจะมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ ก็มีความยุ่งยากซับซ้อน ที่ทำให้ผู้บริหารต้องใช้ความพยายามและทุ่มเทอย่างเต็มที่จึงจะสามารถบรรลุความสำเร็จได้   ทำไมการจัดการโซ่อุปทานจึงมีความยุ่งยาก ? และอะไรที่ทำให้ยุ่งยาก ?  ความยุ่งยากภายในโซ่อุปทานจะเกี่ยวข้องกับหนึ่งหรือสองกรณีดังต่อไปนี้
                1.  เผชิญกับความท้าทายด้านการออกแบบและการดำเนินงานโซ่อุปทานที่จะต้องทำให้ต้นทุนโดยรวมทั้งระบบต่ำสุด  ขณะที่ระดับบริการทั้งระบบโดยรวมจำเป็นจะต้องสามารถรักษาไว้ให้ได้  โดยปกติก็มักจะยุ่งยากอยู่แล้วในการดำเนินการเพียงโรงงานเดียวเพื่อให้ต้นทุนต่ำสุดในขณะที่ยังสามารถรักษาระดับบริการไว้ได้  แต่จะยิ่งยุ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อต้องพิจารณาถึงระบบโดยรวม ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กรภายในโซ่อุปทาน  เดียวกัน  สำหรับกระบวนการในการค้นหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดของระบบโดยรวมจะรู้จักกันในชื่อของ  การหาค่าที่เหมาะสมที่สุดของระบบโดยรวม (Global Optimization)
                2.  ความไม่แน่นอนซึ่งมีอยู่ในทุกๆ โซ่อุปทาน เช่น  ความต้องการของลูกค้า ซึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ถูกต้องอย่างแท้จริง  เวลาในการเดินทางไม่เคยแน่นอน  เครื่องจักร  และยานพาหนะก็มักจะเกิดความเสียเกิดขึ้น  ภายในห่วงโซ่อุปทานจำเป็นจะต้องออกแบบเพื่อขจัดความไม่แน่นอนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  และจัดการกับความไม่แน่นอนที่เหลืออยู่ให้เหลือน้อยที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น